วัดพริบพรี

โบสถ์วัดเพชรพลี อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี

วัดเพชรพลีหรือวัดพริบพรี.วัดเพชรพลีหรือวัดพริบพรีอยู่ในพื้นที่เมืองเก่าเดียวกับวัดกำแพงแลง ในบริเวณนี้น่าจะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและศูนย์กลางของเมืองมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และ ๑๙ แต่ที่วัดพริบพรีในปัจจุบันไม่พบโบราณสถานหรือโบราณวัตถุที่มีอายุเก่าราววัดกำแพงแลงหรือต่อเนื่องมา เพียงแต่พบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่ทำจากศิลาแลง ระฆังหิน ใบเสมาหินทรายแบบอยุธยาตอนต้น และกล่าวกันว่าบริเวณใกล้เคียงและภายในพื้นที่วัดพริบพรีหรือเพชรพรีนี้เป็นที่ตั้งของเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ที่ประดิษฐานพระอิศวร ในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ (เขียนราว พ.ศ. ๒๓๘๘) กล่าวว่า ..ในถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา เทวฐานศาลสถิตอิศวรา เสาชิงช้าก็ยังเห็นเป็นสําคัญ ทั้งโบสถ์บ้านฐานที่ยังมีอยู่ แต่ท่านผู้ญาติกานั้นอาสัญ เพราะกรุงแตกแยกย้ายพลัดพรายกัน จึงสิ้นพันธุ์พงศาเอกากาย… จนทำให้ในปัจจุบันมีการสร้างเสาชิงช้าและโบสถ์พราหมณ์ขึ้นมาใหม่และอยู่ในพื้นที่วัด

การมีโบสถ์พราหมณ์ที่เมืองเพชรเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เห็นความเชื่อมโยงต่อเนื่องกับพราหมณ์ที่เมืองนครศรีธรรมราช และมีแนวโน้มที่จะสร้างความชัดเจนในความสัมพันธ์กับเมืองนครฯ ที่มีพราหมณ์หรือนักบวชและเทวสถานรวมตัวอยู่อย่างหนาแน่น มีจำนวนศาสนสถานมากและอาจจะเก่าที่สุดในคาบสมุทรสยาม-มลายู โดยพบพระวิษณุสององค์ที่สำคัญ และเป็นเทวรูปรุ่นเก่าเปรียบเทียบได้กับเทวรูปพระวิษณุที่พบจากตะกั่วป่า เวียงสระ นครศรีธรรมราช และทางเมืองศรีมโหสถที่ปราจีนบุรี ตลอดจนเมืองศรีเทพที่เพชรบูรณ์ โดยการเปรียบเทียบอายุได้รับอิทธิพลแบบคุปตะและหลังคุปตะ เป็นพระวิษณุนุ่งผ้านุ่งยาวอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ เรียกว่าพระวิษณุสวมหมวกแขกจากวัดธ่อ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากวัดพริบพรีไม่ไกลในรัศมี ๑ กิโลเมตร

มีการสร้างพิพิธภัณฑ์วชิรปราสาท โดยอดีตเจ้าอาวาสวัดพระครูพิศิษฐศิลปาคม ช่วง พ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๕๒๔ นำเอาวัตถุโบราณและพระพุทธรูปที่มีค่าของที่เจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ รวบรวมไว้มาจัดเก็บไว้ในที่เดียวกัน เช่นพระพุทธรูปสำคัญปางต่างๆ พระบรมสารีริกธาตุ ถ้วยชามสังคโลกและเบญจรงค์ .มีแผ่นกระเบื้องจารที่มีอักษรที่ไม่มีนักภาษาโบราณท่านใดอ่านได้ แต่กล่าวว่าทำขึ้นในสมัยสุวรรณภูมิและแปลกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวโดยในครั้งหนึ่งมีผู้ทรงความรู้หลายท่านเชื่อถือ กล่าวว่าได้มาจากแหล่งโบราณสถานบ้านคูบัว จัดแสดงให้ได้ชมในอาคารพิพิธภัณฑ์ด้วยด้วย

ที่น่าสนใจคือพระพุทธรูปธรรมโมรา เป็นพระพุทธรูประทับยืน กล่าวว่าทำด้วยเนื้อทองโมรา หมายถึงส่วนผสมระหว่างทองคำกับดีบุก (แต่อาจจะเป็นสำริดก็ได้) สูง ๒๒ นิ้ว พระครูพิศิษฐศิลปาคมพบที่วัดเขาน้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระประทับยืน อาจจะเป็นปางแสดงธรรมวิตรรกะหรือปางประทานอภัยที่มีการปรับแต่งอยู่บ้าง จีวรมีลายริ้ว รูปแบบได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปแบบอมราวดีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๐ และพบพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลแบบอมราวดีเช่นนี้ตามชุมชนเส้นทางการค้าหลายแห่งทั้งในแถบใกล้ชายฝั่งทะเลและลึกเข้าไปในแผ่นดิน เช่น ที่นครราชสีมา ปราสาทดงเดืองในเวียดนามตอนกลาง พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย สุไหงโกลก พงตึกท่ามะกา คูบัวราชบุรี และถ้าจะพบแถบชายฝั่งทะเลแถบเมืองปราณบุรีในเส้นทางเดินทางโบราณเช่นนี้ก็ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด

จากFacebook มูลนิธิ เล็ก-ประไพ วิริยะพันธ์ https://www.facebook.com/Vlekprapaifoundation/posts/3408374915901641/