ลงรักปิดทองคำเปลว หรือที่คนส่วนมากเรียกสั้น ๆ ว่า ลงรักปิดทอง คือกระบวนการตกแต่งผิวภายนอกของศิลปวัตถุ หรือองค์ประกอบสำหรับสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีด้วยการลงรักหรือทายางรักแล้วปิดด้วยทองคำเปลวทับ ทำให้ผิวของศิลปวัตถุ หรือองค์ประกอบสำหรับงานสถาปัตยกรรมบางสิ่ง เป็นสีทองเหลืองอร่ามและเป็นมันวาว เหมือนหนึ่งว่าทำด้วยทองคำ อันเป็นความเชื่อโดยขนบนิยมในสังคมไทยมาแต่โบราณกาล
งานช่างลงรักปิดทองคำเปลว ได้ทำการปิดทองเป็น ๔ ลักษณะงานด้วยกัน คือ
งานลงรักปิดทองทึบ
งานลงรักปิดทองล่องชาด
งานลงรักปิดทองร่องกระจก
งานลงรักปิดทองลายฉลุ
งานลงรักปิดทองทึบ
งานลงรักปิดทองทึบ หมายถึงการปิดทองคำเปลวลงบนงานศิลปวัตถุต่าง ๆ ซึ่งสร้างขึ้นด้วย ดินเผา ปูนปั้น ไม้แกะสลัก หรือโลหะหล่อ เพื่อให้ผิวภายนอกของศิลปวัตถุนั้น ๆ เป็นผิวทองคำและเรียบเกลี้ยงทั่วไป ตัวอย่างเช่น พระพุทธรูปปิดทองเป็นพระปฏิมาประธาน เป็นต้น
งานลงรักปิดทองล่องชาด
งานลงรักปิดทองล่องชาด หมายถึงการปิดทองคำเปลวลงบนศิลปวัตถุปะเภทต่าง ๆ เช่น ปูนปั้น ไม้แกะสลัก ซึ่งมักแสดงออกในลักษณะลวดลายตกแต่งครุภัณฑ์ ยานพาหนะ หรือองค์ประกอบสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นลวดลายก็ดี รูปภาพแทรกระหว่างลวดลายก็ดี จะได้รับการปิดทองคำเปลว ซึ่งดำเนินการด้วยวิธีปิดทองทึบ แต่จะมีลักษณะแตกต่างกันตรงที่มีการ “ล่องชาด” ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของงานนี้
คำว่า “ล่องชาด” นี้มาแต่คำว่า “ล่อง” คำหนึ่ง กับคำว่า “ชาด” อีกคำหนึ่ง “ล่อง” หมายถึงรอยลึกต่ำลงไประหว่างพื้นผิวปกติ ในกรณีนี้หมายถึง ร่องที่ได้รับการขุดควักลงไปให้ต่ำอยู่ระหว่างช่องไฟของลวดลาย หรือพื้นหลังที่ดูเหมือนต่ำลงไปในงานปูนปั้น เน้นลวดลายให้นูนสูงขึ้นจากพื้นหลังนั้น ส่วนคำว่า “ชาด“ หมายถึงวัตถุสีแดงชนิดหนึ่ง ใช้ทำเป็นสีสำหรับเขียน หรือระบาย คำว่า “ล่องชาด” ในลักษณะของปิดทองล่องชาด อาจมีลักษณะเป็นได้ทั้งคำนามและคำกริยา
งานลงรักปิดทองร่องกระจก
งานลงรักปิดทองร่องกระจก หมายถึงการลงรักบนงานศิลปวัตถุต่าง ๆ ประเภทที่ทำขึ้นด้วย ดินเผา ปูนปั้น ไม้แกะสลัก ดินเผา แล้วปิดทองคำเปลวทับ ลักษณะคล้ายกับงานลงรักปิดทองทึบแต่จะมีลักษณะเฉพาะของงานอยู่ที่มีการ “ร่องกระจก” ขึ้นมา
ร่องกระจก คือการใช้กระจกสีต่าง ๆ แผ่นบาง รูปสีเหลี่ยม นำมาตัดย่อยเป็นชิ้นเล็กรูปร่างต่าง ๆ ตามประสงค์ให้เหมาะแก่งานและพื้นที่ นำมาติดลงในพื้นร่องระหว่างลวดลาย หรือในช่องไฟของสิ่งที่ได้ปิดทองขึ้นในที่นั้น
ความประสงค์ “ร่องกระจก” ก็เป็นไปเช่นเดียวกับการปิดทองล่องชาด คืออาศัยกระจกที่เป็นวัตถุมีสี และความมันวาวถมปิดลงในร่อง เพื่อหนุนหรือขับลวดลายหรือสิ่งที่ปิดทองซึ่งนูนขึ้นจากพื้นหลังให้เป็นที่ดูเด่นชัด เห็นกระจะตานั่นเอง
งานปิดทองลายฉลุ
งานปิดทองลายฉลุ หมายถึงงานตกแต่งลักษณะหนึ่ง ทำด้วยการลงรักแล้วปิดทองคำเปลวให้เป็นลวดลายแบบต่าง ๆ โดยอาศัยลายฉลุเป็นเครื่องกำหนดให้เกิดเป็นลวดลายเช่นนั้น
งานลงรักปิดทองลายฉลุนี้ พึงหาตัวอย่างดูได้ตามเพดาน ท้องขื่อ ฝ้าเฉลียง ไขรา ฝาผนังในพระอุโบสถพระวิหาร หอพระธรรม พระมณฑป เป็นต้น ลักษณะทั่วไปมักเป็นลวดลายหย่อม เช่นลายดาว ลายดอกจอก ลายดาวรังแตน ลายดอกไม้ร่วง หรือทำเป็นลวดลายติดต่อ เช่น ลายก้านแย่งดอกใน ลายกรวยเชิง ลายเกลียว ก็มี ลักษณะของลวดลายเป็นสีทองบนพื้นสีแดงบ้าง สีครามและสีเขียวบ้าง ลวดลายแบบนี้มีลักษณะเป็นตัวขาดจากกัน ไม่ต่อเนื่องกันดังเช่นลายเขียน ทั้งนี้เนื่องจากมี “ขื่อ” ทำขึ้นในแบบลายฉลุเป็นเครื่องกั้นลายแต่ละตัวให้ขาดกัน
งานลงรักปิดทองลายฉลุและวิธีการลงรักปิดทองลายฉลุนี้ เป็นมาด้วยการแก้ปัญหาทางการช่าง ในการทำลวดลายตกแต่งตามที่สูง ๆ เป็นต้น ฝ้าเพดาน ท้องขื่อ หรือฝ้าปีกนก ฯลฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ดาดอยู่เหนือศรีษะ เป็นตำแหน่งที่ยากและลำบากต่อการแหงนหน้าขึ้นเขียนลวดลายที่ประณีตและละเอียด จึงได้ใช้วิธีทำแบบลวดลายขึ้นบนกระดาษบ้าง หนังแพะบ้าง แล้วฉลุตัวลายให้ขาดเป็นช่อง ๆ ตามรูปแบบลายนั้น ขึ้นไว้บนพื้นกระดาษนั้น เมื่อจะทำลวดลายก็จะเอาน้ำยาขึ้นไปทาพื้นตรงที่จะทำให้เป็นลวดลาย แล้วเอาแบบลวดลายปะติดเข้าตรงที่ต้องการให้ติดแน่นจึงเอาทองคำเปลวปิดลงตรงช่องที่เจาะทำเป็นตัวลายบนแบบนั้นให้ทั่ว พอทองจับติดพื้นดีแล้วจึงแกะแบบถอนออกจากพื้น ก็จะเกิดลวดลายสีทองคำเปลวบนพื้น ตามแบบลายฉลุที่ได้ทำขึ้นเป็นแบบนั้น แบบลายฉลุนี้อาจทำเป็นแบบลายต่อเนื่องกันไปได้ไม่จำกัด ลวดลายและวิธีทำให้เกิดเป็นลวดลาย ลักษณะเช่นนี้จึงเรียกว่า งานลงรักปิดทองฉลุลาย
จากหนังสือ ช่างสิบหมู่ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ พิมพ์ปี พ.ศ. 2550
กลุ่มลูกหว้า