วัดที่มีมาตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ยังดำรงคงอยู่ถึงปัจจุบัน อายุมากกว่า 300 ปี ผ่านการบูรณะมาหลายครั้ง แต่ยังคงมีงานศิลปะในยุคนั้นให้เห็นอยู่
พระอุโบสถ สถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา หลังคามุงกระเบื้องกาบู ผนังก่ออิฐฉาบปูนทั้งสองข้าง เป็นผนังทึบไม่มีหน้าต่าง ด้านนอกผนังมีเสานางเรียงรองรับชายคา มีประตูทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หน้าบันเป็นงานปูนปั้นทั้ง 2 ด้าน ส่วนภายในมีเสาร่วมใน 4 คู่ แต่ละต้นปิดทองลายฉลุที่เหมือนกันเป็นคู่ บนฝาผนังทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีภาพจิตรกรรมรูปเทวดาชุมนุมเป็นแถว เขียนซ้อนขึ้นเป็นชั้น ๆ โดยเขียนฝั่งละ 5 ชั้น เขียนถึงภาพเทพชุมนุมตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และมีชัยเหนือกิเลสทั้งปวง จากนั้นเทวดาจากหมื่นโลกจักรวาลได้ร่วมชื่นชมยินดีสรรเสริญแด่พระพุทธองค์ ในครานั้นมีดอกไม้ต่าง ๆ ร่วงโรยประหนึ่งบูขาพระพุทธองค์เช่นกัน ภาพเทพชุมนุมในพระอุโบสถมีทั้งสิ้น ๗ จำพวก คือ พระอินทร์ พระพรหม เทวดา ครุฑ นาคแปลง ยักษ์ และนักสิทธิ์วิทยาธร โดยส่วนใหญ่ช่างเขียนภาพเป็นคู่ ๆ สลับกันไม่เรียงตามบรรดาศักดิ์ โดยแต่ละองค์ถือดอกไม้ประนมหัตถ์บูชาพระพุทธเจ้า ปัจจุบันภาพเขียนลบเลือนไปมากเนื่องจากความเก่า นอกจากนี้แล้วผนังด้านหน้าและด้านหลังพระประธานก็มีงานจิตรกรรมที่สวยงามและทรงคุณค่าอย่างมาก ผนังด้านหน้ามีประตูกลาง ทั้งหมดเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย อายุกว่า 300 ปี
ศาลาการเปรียญ เชื่อกันว่าเดิมเป็นท้องพระโรงของราชสำนักในสมัยอยุธยา ที่พระเจ้าเสือ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ถวายแด่สมเด็จเจ้าแตงโมซึ่งเป็นพระอาจารย์ และย้ายมาตั้งไว้ที่วัดใหญ่นี้ น่าจะเป็นตำหนักของราชสำนักอยุธยาหลังเดียวที่ยังคงเหลืออยู่ในประเทศไทย เป็นอาคารเรือนไม้ทรงไทยที่มีขนาดใหญ่ 9 ห้อง มีเสาปิดทองลายฉลุ 16 ต้น มีฝาปะกนไม้เขียนรูปด้วยสีฝุ่นผสมกาวเป็นรูปสัตว์และพรรณพฤกษาเต็มทุกฝา บานประตูกลางด้านหน้า เป็นบานไม้มีลายแกะสลักที่สวยงาม เป็นกายก้านขด ศิลปะนิยมแบบสมัยอยุธยา ฝีมือช่างหลวง หน้าบันทั้ง 2 ด้านก็เป็นลายแกะสลักลงรักปิดทองที่สวยงาม หน้าบันด้านทิศตะวันตกทำเป็นมุขประเจิดมีเสาทะลุหลังคาขึ้นมารับจั่วที่ยื่นออกมา
หอศิลป์สุวรรณาราม เรือนไทยหมู่ 7 หลัง มีนอกชานเชื่อมต่อภายในเดินถึงกันได้ มีบันไดทางขึ้นด้านหน้า เดิมใช้เป็นกุฏิสงฆ์คณะล่าง แต่ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาไม่มีพระสงฆ์จำวัดที่กุฏิคณะล่างนี้ เนื่องจากที่วัดมีพระสงฆ์จำนวนน้อยจึงไปรวมกันอยู่ที่คณะบน ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันทั้งหมด
ปลายปี 2561 กลุ่มลูกหว้าจึงได้ร่วมกับวัดใหญ่สุวรรณาราม ครูช่างเมืองเพชร และ ผู้มีใจรักงานด้านวัฒนธรรม ใช้จัดตั้งเป็นหอศิลป์สุวรรณารามขึ้น เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวขึ้นไปชมทุกวันโดยมีวันจันทร์เป็นวัดหยุด มีสมาชิกของกลุ่มลูกหว้าคอยบริการนักท่องเที่ยว และจัดกิจกรรมสาธิตงานตอกฉลุลายและงานปิดทองลายฉลุ และเปิดสอนงานสกุลช่างเมืองเพชรให้กับผู้สนใจที่ติดต่อมาล่วงหน้า จัดนิทรรศการภาพถ่ายในวัดใหญ่ และนิทรรศการด้านศิลปวัฒนธรรมของเพชรบุรีในโอกาสต่าง ๆ และใช้เป็นพื้นที่แสดงออกด้านศิลปวัฒนธรรมของเด็กและเยาวชนในจังหวัดเพชรบุรี
ปี 2562 กลุ่มลูกหว้าได้ดำเนินโครงการ ‘รักษ์ลายทอง จำลองลายเสา’ โดยคัดลอกลายทองจากเสาของศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม มาทำการฉลุลายตามแบบเดิม และทำการปิดทองลายฉลุนั้นลงบนแผ่นไม้ เพื่อเป็นการเรียนรู้เทคนิคงานช่างและเก็บรักษาลายดังกล่าวไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้กัน มีจำนวนทั้งสิน 12 แบบลาย ขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้วและจัดแสดงไว้ที่ห้องจัดแสดง ในหอศิลป์สุวรรณาราม
ลูกหว้าพาไหว้พระ ชมศิลปะงานช่างวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร ( 60 นาที) โทร.0812908091
- ฟังเล่า ‘เมื่อเราเข้าวัด’ แนะนำวัดและสถานที่สำคัญของวัด
- พระอุโบสถ สถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาและลายปูนปั้นที่หน้าบัน
- ไหว้พระปฏิมาในพระอุโบสถ และชมงานศิลปะ 10 จุดพร้อมเรื่องเล่าในแต่ละจุด
- ชมงานจิตรกรรมสมัยอยุธยาบนฝาผนังภายในและภาพทวารบาลที่มีความงดงาม
- ระเบียงคต รอบพระอุโบสถ ประวัติความเป็นมา ลักษณะเด่น และช่างผู้ออกแบบ
- หอไตรสามเสา เรือนไทยกลางสระน้ำ
- ปริศนาหน้าจั่วระเบียงคตกับลายฉลุไม้ที่มีเลข ๕ กลับด้าน
- ศาลาการเปรียญ พระตำหนักในราชสำนักอยุธยาถูกย้ายมาอยู่ที่วัดใหญ่ได้อย่างไร
- บานประตูแกะสลักไม้ของศาลาการเปรียญที่มีรอยแตกคล้ายถูกขวานจาม
- บันไดไม้หัวม้าหางปลา สถาปัตยกรรมที่อาจเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์
- เสาลายทอง และภาพจิตรกรรมที่ฝาปะกนด้านในของศาลาการเปรียญ
- มุขประเจิด หน้าจั่วที่มีเสาทะลุหลังคาขึ้นไปรองรับ
- พาชมหอศิลป์สุวรรณาราม เรือนไทยหมู่ 7 หลัง ที่เดิมเคยใช้เป็นกุฏิสงฆ์
- ชมนิทรรศการ รักษ์ลายทอง จำลองลายเสา : การอนุกรัษ์ของเสาร่วมในศาลาการเปรียญซึ่งเป็นศิลปะงานช่างสมัยอยุธยา
กิจกรรม Workshop ‘ถุงผ้าพิมพ์ลายทอง’ ทำถุงผ้าพิมพ์ลายแบบช่างโบราณ
กลุ่มลูกหว้า