วัดเกาะ

โบสถ์วัดเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี

ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมือง ติดกับแม่น้ำเพชรบุรี สาเหตุที่ได้ชื่อว่าวัดเกาะก็เนื่องจากบริเวณวัดแต่เดิมมีน้ำล้อมรอบ ที่ฝาผนังโบสถ์มีภาพจิตรกรรมศิลปะอยุธยา ผนังด้านข้างเป็นภาพสัตตมหาสถาน และ อัฎฐมหาสถาน ผนังหุ้มกลองด้านหน้าพระประธานเป็นภาพเขาพระสุเมรุ ส่วนผนังด้านหลังประธานเป็นภาพมาญผจญ

พระประธานในโบสถ์วัดเกาะ มีภาพเขียนตอนพระพุทธเจ้าผจญมาญอยู่ที่ผนังด้านหลังพระประธาน
ฝาผนังด้านหน้าพระประธานของวัดเกาะเป็นภาพเขาพระสุเมรุ

วัดเกาะยังมีศาสนสถานอื่น ๆ ที่มีความงดงามอีก เช่นหมู่กุฎิสงฆ์ที่ยังคงรูปแบบเรือนไทยหมู่เชื่อถึงกัน มีหอกลาง และชานเชื่อมต่อกัน

ภาพจิตรกรรมบนคอสอง ศาลาการเปรียญวัดเกาะ ผลงานนายหวน ตาลวันนา

ศาลาการเปรียญของวัดเกาะก็มีความงดงาม เป็นฝีมือช่างท้องถิ่นเมืองเพชร มีภาพเขียนจิตรกรรมที่คอสอง ฝีมือนายหวน ตาลวันนา

หอระฆัง วัดเกาะ สร้างด้วยปูนถือเป็นต้นแบบของอีกหลายวัดในเมืองเพชร

หอระฆังวัดเกาะ เป็นหอระฆังปูนแห่งแรกของจังหวัดเพชรบุรี เป็นต้นแบบของหอระฆังวัดอื่น ๆ อีกหลายวัดในเมืองเพชร เป็นผลงานการออกแบบและก่อสร้างของนายห่ง ศิษย์วัดเกาะ ที่เบื่อทำงานช่างไม้ (วัดเกาะเป็นสำนักช่างที่มีชื่อเสียงเรื่องงานไม้และแกะสลักไม้) จึงคิดที่จะลาออกไปทำงานปั้นปูน หลวงพ่อเจ้าอาวาสในสมัยนั้นได้บอกให้นายห่งทดลองทำหอระฆังงานปูนดูก่อน ถ้าทำได้ก็จะอนุญาตให้ออกไปทำงานปูนได้ ซึ่งนายห่องก็ทำได้อย่างสวยงามดังที่เห็น