ปูนปั้นเมืองเพชร

ขอบคุณข้อมูลจากปู่ปั๊ม ดำรงศักดิ์ อินฟ้าแสง – – – – ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์

ศิลปะพื้นเมืองเพชรบุรี เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของชาวเมืองเพชร ทั้งงานสถาปัตยกรรม จิตรกรรม จำหลักไม้ เครื่องทอง หนังใหญ่ ละครชาตรี โดยเฉพาะปูนปั้น เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดของเมืองเพชร ที่พบเห็นได้ทั่วไป ปรากฏผลงานมาแล้วตั้งแต่สมัยทวารวดี สมัยวัฒนธรรมแบบเขมร สุโขทัย อยุธยา สืบต่อมาถึงรัตนโกสินทร์

โบราณสถานโคกเศรษฐี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ศิลปะทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๗ เป็นสถูปโบราณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตรัส กว้าง ๒๕ X ๒๕ เมตร สูง ๕ เมตร เคยมีการขุดแต่งโดยกรมศิลปากร พบโบราณวัตถุจำนวนมาก โดยเฉพาะปูนปั้นประดับโบราณสถาน เศียรพระพุทธรูป เศียรเทวดา ศรีษะบุคคล ศรีษะยักษ์ รูปปั้นคนแคระ

ถ้ำยายจูงหลาน หรือถ้ำเขาน้อย อยู่ในพื้นที่ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เป็นปูนปั้นที่อยู่บนผนังเพิงถ้าเล็ก ๆ บนเชิงเขา รูปปูนปั้นทางด้านซ้ายเป็นภาพพระโพธสัตว์กษิติคครภ์ ประทับยืนตริภังค์ มีประภามณฑลล้อมรอบ พระหัตถ์ซ้ายทำปางประทานพร พระหัตถ์ขวาทำวิตรรกมุทธา ด้านขวาเป็นภาพบุคคล ๒ คนสวมผ้านุ่ง มีศิราภรณ์และเครื่องประดับ เป็นศิลปะสมัยทวารวดีพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔

โบราณสถานวัดกำแพงแลง เพชรบุรี ศิลปะในวัฒนธรรมเขมร มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประกอบด้วยปรางค์ ๔ องค์ ลายปูนปั้นพบอยู่ที่ปรางค์องค์ประธาน ที่บริเวณหน้าบัน บริเวณบัวหัวเสา บัวผนังเชิง และที่กลีบขนุน จากลายปูนปั้นสามารถนำมาเปรียบเทียบได้กับลวดลายจากปราสาทบายน สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ พ.ศ. ๑๗๒๐ – ๑๗๗๓

โบสถ์วัดสระบัว อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี

วัดสระบัว อำเภอเมืองเพชรบุรี พระอุโบสถก่ออิฐถือปูนขนาด ๕ ห้อง ฐานปัทม์ลูกแก้วแอ่นท้องสำเภา ศิลปะสมัยอยุธยา ฐานเสมาเอก หรือ เสมานาค เป็นฐานแปดเหลี่ยม ด้านทิศตะวันออกเป็นฐานแปดเหลี่ยม ลดหน้ากระดานท้องไม้ มีลายประดับ ๓ ชั้น เป็นยักษ์แบก ครุฑและนรสิงห์แบก มีกระจังปฏิญาณ และบัวกลุ่ม เสมามีหลังคาคลุม

วัดสระบัว อำเภอเมืองเพชรบุรี พระอุโบสถก่ออิฐถือปูนขนาด ๕ ห้อง ฐานปัทม์ลูกแก้วแอ่นท้องสำเภา ศิลปะแบบนิยมสมัยอยุธยาตอนปลาย หน้าบันเป็นปูนปั้นลงรักปิดทองร่องกระจก เป็นกระจกเกรียบสีเขียวเป็ด ปั้นรูปนารายณ์ทรงอสูรบนลายก้านต่อช่อหางโต

ปูนปั้นที่ผนังห้องด้านหลังพระประธานในโบสถ์วัดไผ่ล้อม (วัดร้าง)

วัดไผ่ล้อม อำเภอเมืองเพชรบุรี เป็นวัดร้างเหลือแต่โบสถ์ เป็นศิลปะอยุธยาตอนปลาย ด้านหลังพระประธานมีห้องที่มีปูนปั้นเต็มผนัง เล่าเรื่องการไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่เขาสุมณกูฎ ในลังกา ปรากฏบันไดสายโซ่และรอยพระพุทธบาทอยู่ด้านบน บนสุดของจั่วด้านนอกเป็นปูนปั้นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณบนลายก้านต่อช่อหางโต

กุฏิพระอาจารย์แสง วัดเขาบันไดอิฐ อำเภอเมืองเพชรบุรี สร้างสมัยอยุธยา ภายในกุฏิมีห้องขนาดเล็กอยู่ชั้นในอีก ๑ ห้อง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ระหว่างห้องโถงและห้องเล็กมีซุ้ทประตูยอดนพศูลสวมฉัตรทอง ปิดทองล่องชาด ประดับกระจกเกรียบ มีมุขหน้าบันซ้อน ๒ ชั้น ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์แบบนาคเบือน เป็นของเดิมที่ทรงคุณค่ามาก

โบสถ์วัดเขาบันไดอิฐ อำเภอเมืองเพชรบุรี ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย หน้าบันด้านหน้าเป็นปูนปั้นครุฑจับก้านกนก บนลายก้านขดช่อหางโต จัดเป็นลายปูนปั้นที่งดงามที่สุดในจังหวัดเพชรบุรีก็ว่าได้ หน้าบันปูนปั้นด้านหลังเป็นปูนปั้นครุฑจับก้านกนกบนลายก้านต่อช่อหางโต เป็นลายต้นแบบที่ช่างปั้นเมืองเพชรนำไปปรับประยุกต์สร้างผลงานปูนปั้นกันมาก

ลายปูนปั้นหน้าพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร

พระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๒๔๐ พระอุโบสถเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ฐานปัทม์แอ่นโค้งท้องสำเภา หน้าบันปูนปั้นปิดทองร่องกระจก ทิศตะวันออก ปั้นเป็นครุฑจับก้านกนกลายก้านขดช่อหางโต หน้าบันทิศตะวันตกปั้นเป็นรูปนารายณ์ทรงอสูร อยู่บนลายก้านต่อช่อหางโต

โบสถ์วัดเกาะ สร้าง พ.ศ.2277 ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ฐานปัทม์แอ่นโค้งท้องสำเภา หน้าบันทิศตะวันออกเป็นงานปูนปั้นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณ บนลายกนกเปลว หน้าบันด้านทิศตะวันตกปั้นเป็นรูปเทพพนมบนหน้ากาล ลายกนกเปลว สันนิษฐานว่ามีการบูรณะในภายหลัง

วัดลาด อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย บูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 หน้าบันด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นด้านหน้าเป็นงานปูนปั้นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณ พระนารายณ์เหยียบอยู่บนบ่าครุฑ นาคสามเศียรถูกครุฑฉีกร่างเป็นสองซีก ครุฑยืนอยู่เหนือศรีษะบุคคลปากแบะ หรืออาจเป็นรูปหน้ากาลคล้ายกับหน้าอุโบสถวัดเกาะ หน้าบันด้านทิศตะวันออกปั้นเป็นรูปเทพเหยียบอสูร บนลายกนกเปลว คล้ายกับลายปูนปั้นด้านหลังพระวิหารน้อย หรือวิหารแกลบ ที่ตั้งอยู่ระหว่างวิหารหลวงกับพระอุโบสถวัดมหาธาตุวรวิหาร เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย

วัดท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ตั้งเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2313 พระอุโบสถเป็นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หน้าบันด้านทิศตะวันออกปั้นเป็นรูปเทพพนมบนลายก้านขด ใต้เทพพนมเป็นรูปหน้ากาล คูหาใต้จั่วเป็นเหราคู่ ด้านหน้ามีพาไล หน้าบันทิศตะวันตกปั้นเป็นเทพพนมบนลายก้านขดเหนือเทพพนมมีลายหน้ากาล คูหาใต้จั่วเป็นลายก้านขด