ประวัติวัดป้อม
วัดป้อมปัจจุบัน ตั้งอยู่ เลขที่ 5 ถ.ท่าหิน ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ในเขตเทศบาลเมือง มีเนื้อที่ประมาณ 17 ไร่ 3 งาน อยู่ในกลุ่มวัดติดต่อ ใกล้เคียงหลายวัดได้แก่ วัดเกาะ วัดจันทราวาส วัดแรก วัดชีร์ประเสริฐ วัดสนามพราหมณ์ วัดพลิบพรี เป็นต้น
การตั้งวัด
วัดป้อม ตามประวัติศาสตร์ในเอกสารบางแห่งว่า ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.2130 แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ได้รับหนังสือรับรองสภาพวัด จากกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ให้วัดป้อมมีชื่ออยู่ในทะเบียนวัดของกรมศาสนาและมีสภาพเป็นวัดตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2544 ตามหนังสือที่ ศธ 0303/7359 แต่ไม่ปรากฏหลักฐานโดยแน่ชัดว่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อใด เพราะไม่มีโบราณสถานโบราณวัตถุเก่าหลงเหลืออยู่ มีเพียงชื่อวัด ว่าวัดป้อม ที่พิสันนิษฐานว่าเคยมีกำแพงเมือง ที่มีป้อมเมืองตั้งอยู่ เมื่อสถานที่กลายมาเป็นวัด ตรงที่เป็นป้อมเมืองได้กลายเป็นที่ตั้งเจดีย์แทน
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับถนนท่าหิน
ทิศใต้ ติดกับเขตวัดแรกและบ้านเรือนราษฎร โดยมีคลองวัดเกาะเป็นคูคลองเมืองคั่น
ทิศตะวันออก ติดกับถนนซอยเข้าวัดแรกและหอสมุดประชาชนฯ
ทิศตะวันตก ติดกับอาคารบ้านเรือนชาวบ้าน ซึ่งเป็นที่ดินจัดผลประโยชน์ของวัดและถนนมาตยาวงศ์
ประวัติความเป็นมาของวัดป้อม
วัดป้อม เป็นวัดโบราณวัดหนึ่ง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง จากคำบอกเล่าของผู้มีอายุหลายท่านให้คำชี้แจ้งตรงกันว่าวัดป้อมเป็นวัดเก่าเห็นกันมาตั้งแต่รู้จักจำความได้จากผู้ใหญ่บางท่าน วัดป้อมเป็นวัดอยู่ในกลุ่มวัดเก่าหลายวัด ซึ่งปัจจุบันคงเหลืออยู่เช่น วัดเกาะ วัดจันทร์ วัดแรก วัดพริบพรี วัดชีร์ประเสริฐ วัดสนามพราหมณ์ เป็นต้น ส่วนวัดใกล้เคียงกันที่ร้างไปก็มีวัดกก วัดเลา วัดเกด วัดสามวิหาร วัดเสมาสามชั้น วัดปากน้ำ วัดปีบ เป็นต้น
เอกสารและหลักฐานที่กล่าวถึงวัดป้อม ที่มีการสืบค้นได้จากหนังสือ “พระปิยมหาราชกับเมืองเพชรบุรี” อนุสรณ์พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพของจ่าสิบเอกหญิงอุไร อังกินันท์ เรื่อง “พระราชกิจรายวันของรัชกาลที่ 5 ที่เพชรบุรี” โดยอาจารย์เสยย์ เกิดเจริญฯ ได้เรียบเรียงไว้ตอนหนึ่งความว่า
เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2452 เวลาเย็นเสด็จไปทอดพระเนตรวัดอุทัย แล้วเสร็จพระราชดำเนินไปตามถนนมาตยาวงศ์ผ่านวัดพระทรง วันสนามพราหมณ์ วัดชีว์ประเสริฐ ถึงวัดป้อม เลี้ยวมาตามถนนลาด (พานิชเจริญปัจจุบัน) กลับที่พัก
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2453 ทรงรถม้าพระที่นั่งประพาสทอดพระเนตรถนนในวัง และนอกวังถึงสะพานอุรุพงษ์ทรงพระเก้าอี้หามข้ามไปเลี้ยวออกถนนตัดใหม่ไปบรรจบถนนวัดป้อม เพิ่งกำลังถมดิน ถนนนี้พระราชทานนามว่า ถนนบริพัตร
เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2453 เวลาเช้า 4 โมงเศษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานาถ เสด็จทรงประเทคอาหารบิณฑบาต แก่พระสงฆ์ที่สวดพระพุทธมนต์วัดก่อน พระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้วมีพระธรรมเทศนาเป็นส่วนข้างใน 2 กัณฑ์ “พระปลัดฉิม เจ้าอธิการวัดป้อม กัณฑ์ 1 เจ้าอธิการพุ่ม วัดน้อย กันฑ์ 1 แล้วมีสดับปกรณ์ 100 รูป”
จากข้อความนี้ทำให้ทราบว่าสมัย รัชกาลที่ 5 เสด็จมาประทับที่เพชรบุรีได้ถือโอกาสเสด็จฯ ออกชมบ้านเมืองไปตามถนนต่างๆ ในครั้งกระนั้นทรงตัดถนนขึ้นใหม่หลายสาย เช่น ถนนราชดำเนิน จากสถานีรถไฟไปยังท้ายวัดสิงห์ ซึ่งต่อมาอยู่ในเขตพระราชฐานพระรามราชนิเวศน์ ทรงตัดถนนในวังและนอกวัง ทรงสร้างสะพานอุรุพงษ์ข้ามแม่น้ำ การตัดถนนพร้อมปลูกต้นมะฮอกกานีไว้ ส่วนถนนที่ผ่านด้านข้างวัดป้อมไปท่าหินก็ยังมิได้ทรงตั้งชื่อ แต่ถนนได้ทำไปตามแนวกำแพงเมืองและบริเวณนี้มีป้อมกำแพงเมืองอยู่ตามนามชื่อวัดที่อาจมีมาแล้วว่า วัดป้อม และตรงที่ตั้งป้อมนั้นได้มีการสร้างเจดีย์ขึ้น
จากหนังสือเที่ยวเพชรบุรี พิมพ์เมือง มีนาคม 2496 จุลศักราช 1315 เรื่องประวัติเพชรบุรี โดยขุนชาญใช้จักร (ร.อ.ชาญ ชาญใช้จักร รน.) ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี 2487
กล่างถึง
“เพชรบุรีมีโบราณสถานที่ขอมสร้างขึ้น คือ พระปรางค์วัดมหาธาตุ เทวสถานปรางค์สามยอดวัดกำแพงแลง โบสถ์พราหมณ์ที่หน้าวัดพริบพลี และหลักเมืองที่ศาลเจ้าสำโรง นอกจากนี้ยังมีเสาชิงช้าที่หน้าวัดพริบพลี อยู่หน้าโบสถ์พราหมณ์ (แบบกรุงเทพฯ) กับมีกำแพงเมือง ประตูคูรอบ ห่วงรอแลหบรบครบครัน ทุกแห่งยังมีชื่อปรากฏอยู่ซึ่งตั้งเป็นวัดบ้าง ศาลเจ้าบ้าง เช่น วัดป้อม หรือต้นโพธิ์ประตูเมือง มีศาลเจ้าอยู่ทุกวันนี้
จากหนังสือ “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเมืองเพชร”
อนุสรณ์พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ อาจารย์สายพิณ เปี่ยมสง่า ท.ช., ท.ม. โดยอาจารย์เสยย์ เกิดเจริญ อดีตอธิการวิทยาลัยเพชรบุรี มีข้อความบางตอนที่มีผู้เขียนบางท่านกล่าวถึงวัดป้อม ดังนี้
“ขณะทรงผนวช พระองค์ทรงได้ใกล้ชิดกับชาวเพชรบุรีอย่างมากและทรงเมตตาและแสดงธรรมโปรดชาวบ้านที่ศาลากลางบ้านหลายแห่ง เช่น ที่ศาลาอินชัง (อยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรีหน้าวัดน้อย หรือวัดไชยสุรินทร์ปัจจุบัน) ศาลาบ้านจีน (อยู่ริมถนนพานิชเจริญใกล้ต้นโพธิ์ประตูเมืองเขตบ้านนารายณ์ ปัจจุบันศาลานี้ได้รื้อถวายกำแพงแลงไปแล้ว ชาวบ้านที่สนใจในพระธรรมที่ทรงแสดงถึงกับถวายลูกหลานให้เป็นศิษย์มากมาย ศิษย์บางคนก็ได้ติดตามพระองค์มาอยู่ที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) และวัดมหาธาตุ ศิษย์บางคนก็ได้อยู่อุปสมบทและได้ไปครองวัดต่างๆ เช่น พระใบฎีกาเอม ชาวบ้านบางจานเป็นพระครูมหาสมณวงศ์ ครองวัดมหาสมณาราม พระศุข ชาวบ้านป้อม ริมวัดเกาะ ครองวัดบรมนิวาส เป็นพระญาณรักขิต เป็นต้น”
ในจำนวนนี้ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาลละลักษณ์) ที่นับว่ามีความใกล้ชิดกับพระราชสำนักและพระราชวงศ์ท่านเป็นผู้เขียนตำนานและประวัติศาสตร์เมืองเพชรเป็นคนแรก และท่านเป็นผู้พบพระราชพงศาวดารที่เพชรบุรีสมัยอยุธยาที่ได้รับคำเชื่อว่า มีศักราชถูกต้องกว่าฉบับใดๆ พระราชพงศาวดารฉบับนี้ ต่อมาจึงได้ชื่อเป็นเกียรติว่าพระราชพงศาวดากรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ เป็นเกียรติแก่พระยาปริยัติธรรมธาดา ขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งหลวงพระเสริฐอักษรนิติ
จากหนังสือประวัติวัดพระทรง พิมพ์เมื่อ 20 กันยายน พ.ศ.2500 เขียนโดย ขุนชาญใช้จักร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี อ้างถึงวัดป้อม ดังนี้
“ขอมได้สร้างเพชรบุรีขึ้นเป็นเมืองชั้นลูกหลวง ปกครองเมื่อประมาณ พ.ศ.1660-1790 โดยมีถาวรวัตถุสถานอยู่ทุกวันนี้ ได้แก่ กำแพงเมือง และป้อมคู ประตูหอรบครบครัน ยังมีรากฐานประจักษ์อยู่ เป็นพยานกระทั่งทุกวันนี้ เช่นที่ วัดป้อม เป็นต้น”
ขุนชาญใช้จักร ยังได้กล่าวถึงลำน้ำเพชรบุรี “ชั้นเดิม แม่น้ำไหลผ่านดอนจุฬา เลียบหน้าวัดคงคา ผ่านวัดเกาะ เป็นเกาะกลางน้ำ แล้วไหลเลียบกำแพงเมือง ตรงวัดป้อม ลงไปที่วัดปากน้ำ (วัดร้างริมทางรถไฟ) ออกไปสู่วัดปากอ่าวที่บางจาน
จากหนังสือคนดีเมืองเพชร จัดพิมพ์โดยแผนกศึกษาธิการจังหวัดเพชรบุรี เมื่อมิถุนายน 2504 เรื่องขุนศรีวังยศ เรียบเรียงโดย อ.บุญมี พิบูลย์สมบัติ กล่าวถึงวัดป้อม ดังนี้
“ในบั้นปลายชีวิตของขุนศรีวังยศ แม้ท่านจะไม่ได้ควบคุมงานอย่างใกล้ชิด ท่านก็ยังได้ช่วยเหลือลูกศิษย์ สมภารเจ้าวัด ตลอดจนคนทั่วไปที่มาขอแบบแปลน และข้อคิดจากท่านเสมอมีมากมายหลายสิบแห่ง นับไม่ถ้วน เช่น โบสถ์และศาลาวัดพลับพลาชัย เจดีย์วัดป้อม ธรรมาสน์วัดนาค โบสถ์วัดสิงห์ ประตูวัดชีว์ประเสริฐ
จากหนังสือตำนานเมืองเพชร หน้า 26 เขียนโดยพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์)
“การตั้งเมืองยุคที่สามนั้นจะกล่าวว่าลำน้ำทางตะพานช้างแห้งไปหรือลำน้ำใดในเมืองแห้งจนขาดคราวฤดูก็ตามหรือ ไชยภูมิ ต้องจำเป็นเปลี่ยนไปตามศุภมิตรก็ตามครั้งที่ตั้งอยู่ตามรูปเมือง ในเวลานี้คือกำแพงเมืองตั้งแต่ประตูเมืองด้านใต้ที่เรียกศาลาเจ้าประตูเมืองนั้นยังยื่นไปทางวัดป้อมซึ่งมีป้อมอยู่ตรงนั้นจะเป็นวัดภายหลัง หรือเก่าก็ไม่ทราบ แล้วยื่นหักวงลงทางตะวันออกยื่นตรงไป แถบวัดไตรโลกย่างกลางกำแพงมีอยู่ประตูหนึ่ง เรียกประตูบางจาน ซึ่งเป็นหนทางไปบ้านบางจานโน้น แล้วโอบมาข้างเหนือตกคลองกระแชง ซึ่งเรียกว่า ประตูคลองกระแชง ซึ่งมีหอรบหอคอยทั้งสองประตูที่มีอยู่ในพระราชพงศาวดารครั้งเขมรยกข้ามทะเลมาติดเมือง เมื่อปีจอ จุลศักราช 924 (พ.ศ.2105) (ทำนองเมืองครั้งนั้นที่จะคร่อมแม่น้ำ น้ำแล่นกลางจึงมีชื่อคลองกระแชงฟากตะวันตก) ความจริงตัวเมืองกว้างยยาวมากอยู่ จะมีประตูแลป้อมมากน้อยเท่าใด ข้าพเจ้าไม่ได้สำรวจ กล่าวตามที่รู้เห็นเท่านั้น”
จากเอกสารหลักฐาน ดังนำมาเทียบเคียงจะเห็นได้ว่า วัดป้อมเป็นวัดที่มีมาแต่โบราณและเป็นวัดที่มีอายุมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้สร้าง
ข้อมูลจากเพจ วัดป้อม
กลุ่มลูกหว้า